จิกนม ๒

Palaquium hispidum H. J. Lam

ชื่ออื่น ๆ
แซว (พัทลุง)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ ทุกส่วนมียางสีขาว กิ่งรูปทรงกระบอก มีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแกมเหลืองหรือเกือบเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานแผ่นใบด้านล่างมีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแดง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบรังไข่มีขนหยาบแข็งปกคลุม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปขอบขนานแกมรูปทรงรี ผิวมันวาว มีรอยตามยาว

จิกนมชนิดนี้เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๒ ม. ทุกส่วนมียางสีขาว กิ่งรูปทรงกระบอก มีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแกมเหลืองหรือเกือบเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปรีรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๑.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายมน หรือเรียวแหลม ปลายสุดทู่ หรือมีติ่งแหลมยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. โคนรูปลิ่มกว้างถึงมน ค่อนข้างไม่สมมาตร ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนแบบขนแกะที่โคนด้านล่างมีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแดง มีหนาแน่นที่เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน บางครั้งมีขนแบบขนแกะ เส้นกลางใบเป็นสันกลมนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๒๒-๒๘ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ใบแก่ก่อนร่วงสีเหลือง ก้านใบยาว ๒.๒-๓ ซม. เป็นร่องแคบ ๆ ทางด้านบน มีขนแบบขนแกะสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน หูใบรูปใบหอก กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๕.๖ มม. ด้านนอกมีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแกมเหลือง ด้านในมีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแดง หูใบร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ มี ๗-๒๕ ดอก ก้านดอกยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบเลี้ยงเรียง ๒ ชั้น โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๖ แฉก ไม่พับจีบด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่มสีน้ำตาลแดง ด้านในเกลี้ยง มีขนยาวนุ่มที่ปลายกลีบ แฉกกลีบเลี้ยงชั้นนอกรูปไข่กว้างหรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๕.๖ มม. แฉกกลีบเลี้ยงชั้นในรูปไข่ รูปขอบขนานถึงคล้ายรูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๔.๕ มม. ขอบเป็นเยื่อบาง เกลี้ยง และเป็นชายครุย กลีบดอกยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหมสีน้ำตาลแดง ด้านในมีขนสั้นนุ่ม ปลายหลอดแยกเป็น ๖ แฉก รูปรีกว้าง รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาว ๗.๕-๘ มม. เกลี้ยง โคนแฉกมีขนคล้ายไหมสีน้ำตาลแดง ส่วนปลายแฉกมีขนครุย เกสรเพศผู้ ๑๒ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒.๕-๓ มม. เกลี้ยง อับเรณูติดที่โคน รูปขอบขนานถึง


คล้ายรูปไข่ หันออก ยาว ๒.๕-๔ มม. มีขนประปรายแกนอับเรณูปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คล้ายรูปกรวย มีขนหยาบแข็งสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน รังไข่มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ๖ ตุ่ม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือรูปทรงรี สีน้ำตาลอ่อน เปลือกผลย่นและขรุขระ มีกลีบเลี้ยงและก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ก้านผลยาว ๒.๕-๓ ซม. เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปขอบขนานแกมรูปทรงรี ผิวมันวาว มีรอยตามยาว มี ๖ เมล็ด

 จิกนมชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิกนม ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Palaquium hispidum H. J. Lam
ชื่อสกุล
Palaquium
คำระบุชนิด
hispidum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lam, Herman Johannes
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1892-1977)
ชื่ออื่น ๆ
แซว (พัทลุง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุคิด เรืองเรื่อ